วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

ความหมายของการสอนแบบบูรณาการ                 การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrated Management)  หมายถึง กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามความสนใจ ความสามารถของผู้เรียน โดยการเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสามารถนำความรู้ ทักษะ เจตคติไปใช้ในการสร้างงานเพื่อการแก้ไขปัญหาและใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสมและเต็มศักยภาพ
                  หลักสูตรบูรณาการ (Integrated Curriculum)  หมายถึง การรวมเนื้อหาสาระของวิชาต่างๆ ในหลักสูตรที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายกันและทักษะในการเรียนรู้ ให้เชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นสิ่งเดียวกัน โดยการตั้งเป็นหัวข้อเรื่องขึ้นใหม่ และมีหัวข้อย่อยตามเนื้อหาสาระ อีกทั้งสอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ของสังคมอย่างสมดุล มีความหมายแก่ผู้เรียน และให้โอกาสผู้เรียนในการปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองให้มากที่สุด
                การสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การจัดการเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องจากศาสตร์ต่างๆ ของรายวิชาเดียวกันหรือรายวิชาต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความคิดรวบยอดของศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในชีวิตจริงได้               ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้  เช่น Lardizabal and Others. (1970: 141)   ได้ให้ความหมายของการเรียนการสอนแบบบูรณาการว่า  หมายถึง การสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านบุคลิกภาพในทุกๆ ด้าน   ผู้เรียนสามารถปรับตัวและมีพฤติกรรมตอบสนองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม โดยการแก้ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้พื้นฐานของแต่ละบุคคล   การสอนแบบบูรณาการจะให้ความสำคัญกับครูและนักเรียนเท่าเทียมกัน ทำกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันแบบประชาธิปไตย              กาญจนา คุณารักษ์.( 2522:21)   ได้ให้ความหมายของการเรียนการสอนแบบบูรณาการว่า  หมายถึง กระบวนการหรือการปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนรู้ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทางจิตพิสัย และพุทธิพิสัย หรือกระบวนการหรือการปฏิบัติในอันที่จะรวบรวมความคิด มโนภาพ ความรู้ เจตคติ ทักษะ และประสบการณ์ในการแก้ปัญหา เพื่อให้ชีวิตมีความสมดุล            สุมานิน รุ่งเรืองธรรม.(2522:32)  กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การสอนเพื่อจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน เพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมาย ให้เข้าใจลักษณะความเป็นไปอันสำคัญของสังคม เพื่อดัดแปลงปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เรียนให้เข้ากับสภาพชีวิตได้ดียิ่งขึ้นย่างต่อไปนี้                ผกา สัตยธรรม.( 2523:45-54) ได้ให้ความหมายของการเรียนการสอนแบบบูรณาการว่า หมายถึง ลักษณะการสอนที่นำเอาวิชาต่างๆ เข้ามาผสมผสานกัน โดยใช้วิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกนหลักและนำเอาวิชาต่าง ๆ มาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตามความเหมาะสม             นที ศิริมัย.(2529:63-65) กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง เทคนิคการสอนโดยเน้นความสนใจความสามารถ และความต้องการของผู้เรียน ด้วยการผสมผสานเนื้อหาวิชาในแง่มุมต่าง ๆ อย่างสัมพันธ์กัน เป็นการสร้างความคิดรวบยอดให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน และยังสามารถนำความคิดรวบยอดไปสร้างเป็นหลักการเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วย             การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ จึงหมายถึง กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนตามความสนใจ ความสามารถ และความต้องการ โดยการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เรียน ทั้งทางด้านสติปัญญา(Cognitive) ทักษะ (Skill) และจิตใจ (Affective) ให้ดีขึ้น และสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันอย่างเต็มศักยภาพ
               การสอนแบบบูรณาการ มีกรอบแนวความคิด ดังนี้            1.  ศาสตร์ทุกศาสตร์ไม่อาจแยกจากกันโดยเด็ดขาดได้ เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของคนที่ต้องดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนเป็นองค์รวม การจัดให้เด็กได้ฝึกทักษะและเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จะทำให้การเรียนรู้มีความหมายสอดคล้องกับชีวิตจริง          2. การจัดการเรียนรู้อย่างบูรณาการ จะช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชา ลดเวลาการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นการแบ่งเบาภาระในการสอนของครู        3. การเรียนแบบบูรณการ ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้ความคิด ประสบการณ์ความสามารถและทักษะด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะกระบวนการและเนื้อหาสาระไปพร้อมๆ กัน                 ลักษณะของการบูรณาการ มีลักษณะโดยสรุป  ดังนี้         1. การบูรณาการเชิงเนื้อหาสาระ เป็นการผสมผสานเชื่อมโยงเนื้อหาสาระ ในลักษณะการหลอมรวมกันของหลายศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกัน หรือนำไปประยุกต์ร่วมกันได้ แล้วตั้งเป็นหน่วย (  Unit ) หรือหัวเรื่อง ( Theme )  ขึ้นมาตามความเหมาะสม        2. การบูรณาการเชิงวิธีการ  เป็นการผสมผสานวิธีการสอนแบบต่าง ๆ เข้าในการสอน  โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายวิธี  การสนทนา  การอภิปราย  การใช้คำถาม  การบรรยาย  การค้นคว้าและการทำงานกลุ่ม  การไปศึกษานอกห้องเรียน  และการนำเสนอข้อมูลเป็นต้น          3. การบูรณาการความรู้กับกระบวนการเรียนรู้ โดยออกแบบการเรียนรู้ให้มีทั้งการให้ความรู้และกระบวนการต่างๆ ไปพร้อม ๆ กัน เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการแก้ปัญหา และ กระบวนการสร้างความคิดรวบยอดเป็นต้น         4. การบูรณาการความรู้  ความคิด  กับคุณธรรม  โดยเน้นทั้งพุทธิพิสัยและจิตพิสัยเป็นการเรียนที่มีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมไปพร้อม ๆ กัน  เพื่อที่มุ่งหวังให้นักเรียนเป็น ผู้มีความรู้ คู่คุณธรรม ”          5. การบูรณาการความรู้กับการปฏิบัติ เน้นการลงมือปฏิบัติจริง  ควบคู่ไปพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเนื้อหาวิชาการ         6. การบูรณาการความรู้ในโรงเรียนกับชีวิตจริงของนักเรียน พยายามให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและสามารถนำเนื้อหาในส่วนที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียนไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้  เพื่อให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าและความหมายในสิ่งที่ตนเรียน (สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์.  2546: 25) 
              แนวคิดสำคัญของรูปแบบการสอนบูรณาการในหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้  
               คำว่า   บูรณาการ (Integration)  นั้นหมายถึง การทำให้สมบูรณ์  สมดุลในตัวเองจนนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง  และเหมาะสม
              Jacob  ได้เสนอรูปแบบของการบูรณาการ 5 ลักษณะซึ่งเรียกว่า Five option for integration  ไว้ดังนี้(อ้างอิงใน FraZee and Rudnitski, 1998 : 137-138)      1.   Discipline Based เน้นเนื้อหาของแต่ละรายวิชา สอนแยกกัน      2.   Parallel เป็นการสอน 2 วิชาในเนื้อหาร่วมกัน (Concurrent Event)      3.   Multidisciplinary เป็นการสอนหลายวิชาแยกกัน แต่สอนในหัวเรื่อง (Theme) เดียวกัน      4.  Interdisciplinary เป็นการสอนหลายวิชาร่วมกันในหัวเรื่อง (Theme) เดียวกัน      5.  Integrated เป็นการรวมระหว่างการผสมผสานเนื้อหาหลายวิชากับกิจกรรมการเรียนการสอน           จากรูปแบบแนวคิดของจาคอบนั้น ในข้อ 2-4 เป็นการบูรณาการที่แสดงถึงการจัดเนื้อหาวิชาต่างๆในหลักสูตร แต่ถ้าเป็นการบูรณาการในแง่ของการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติ จะเป็นการบูรณาการแบบ Integrated Learning ในข้อ 5                แนวคิดการสร้างหลักสูตรแบบบูรณาการ                   Ornstein and Hunkins. (1988:321-325)  ให้แนวคิดการจัดหลักสูตรแบบบูรณาการ (Integrated Curriculum)   คือการจัดหลักสูตรเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ทุกประเภทเข้าด้วยกันในแผนการจัดหลักสูตรโดยเน้นการเชื่อมโยงประเด็นและหมวดหมู่จากเนื้อหาต่างๆ ทั้งหมด เข้าด้วยกันในแนวนอน เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นภาพรวมของความรู้และได้เรียนรู้ความหมายที่ลึกซึ้งของสาระวิชาที่เรียน ซึ่งจะต้องมีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบในแนวนอน ในลักษณะเป็นหน่วยเดียวกันไม่แยกเป็นส่วนๆและแต่ละราชวิชาต้องเชื่อมโยงเข้ากับวิชาอื่นๆ ในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน                    แนวคิดสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ        Lardizabal and others. (1970:142-143) ได้กล่าวว่าการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ต้องยึดหลักสำคัญที่ว่าแกนกลางของประสบการณ์อยู่ที่ความต้องการของผู้เรียนและประสบการณ์ในการเรียนรู้ และนำมาจัดเป็นหน่วยการเรียน ซึ่งหน่วยการเรียนอาจแบ่งแยกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ประเภท             1. หน่วยเนื้อหา (Subject – Matter Unit) เป็นการเน้นหน่วยเนื้อหาวิชาการหรือหัวข้อเรื่องต่างๆหลักการ             2. หน่วยความสนใจ (Center of Interest Unit) จัดเป็นหน่วยขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานของความสนใจและความต้องการ หรือจุดประสงค์เด่นๆของผู้เรียน             3. หน่วยเสริมสร้างประสบการณ์ (Integrative Experience Unit) เป็นการรวบรวมประสบการณ์ หรือจุดเน้นที่กำหนดขึ้นในผลการเรียนรู้และสามารถนำไปสู่การปรับพฤติกรรมในทางที่ขึ้น  และเกิดการปรับตัวของผู้เรียนในสถารการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม
     ซึ่ง  3  หน่วยดังกล่าวนั้น  กล่าวโดยสรุปได้ว่า  เปรียบเสมือนกลุ่มกิจกรรม  หรือประสบการณ์ที่จัดไว้เพื่อสนองจุดมุ่งหมายหรือสำหรับการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยการเรียนจะเริ่มมาจากจุดที่ผู้เรียนสนใจเป็นส่วนใหญ่ แล้วแยกไปสู่กิจกรรมในแง่มุมต่างๆ จนกระทั่ง ผู้เรียนสามารถตอบสนองสถานการณ์ที่กำหนดไว้ได้   อย่างถูกต้องเหมาะสม
            Unesco- unep. (1994: 51) ได้กำหนดลักษณะของการจัดการเรียนการสอนแบบการบูรณาการไว้ 2  แบบคือ     1.แบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ได้แก่ การสร้างเรื่อง (Theme)    ขึ้นมาแล้วนำความรู้จากวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับหัวเรื่องนั้นซึ่งบางครั้ง เราก็อาจเรียกวิธีการบูรณาการ แบบนี้ว่า  สหวิทยาการแบบหัวข้อ (Themetic Interdisciplinary Studies)  หรือการบูรณาการที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลัก (Application – First Approach)          2. แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) ได้แก่การนำเรื่องที่ต้องการจะจัดให้เกิดการบูรณาการไปสอดแทรก (Infusion) ไว้ในวิชาต่างๆซึ่งบางครั้ง เราก็อาจเรียกวิธีการบูรณาการ แบบนี้ว่า การบูรณาการที่เน้นเนื้อ หารายวิชาเป็นหลัก (Discipline – First Approach)           สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ. (2546 : 184-191) ให้แนวคิดการแบ่งประเภทการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ คือ         แบบที่ 1. จำแนกตามจำนวนผู้สอน มี 3 ลักษณะ คือ                 1.1    การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆกับหัวเรื่องที่สอดคล้องกันกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมาเชื่อมโยงสาระและกระบวนการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความรู้ความจริงจากหัวข้อเรื่องที่กำหนด              1.2  การบูรณาการแบบคู่ขนาน (Parallel Instruction) มีผู้สอนตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยอาจยึดหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วบูรณาการเชื่อมโยงแบบคู่ขนาน เช่น ผู้สอนวิทยาศาสตร์ เรื่อง เงา ผู้สอนอาจสอนคณิตศาสตร์ เรื่องวัดระยะทางโดยการวัดเงา คิดคำนวณในเรื่องเงาในช่วงเวลาต่างๆ หรืออีกคนหนึ่งอาจให้ผู้เรียนรู้ศิลปะเรื่องเทคนิคการวาดรูปที่มีเงา                1.3    การบูรณาการแบบสอนเป็นทีม ผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันคิดหัวข้อเรื่องหรือโครงการมาโดยใช้เวลาเรียนต่อเนื่องกัน อาจรวมจำนวนชั่วโมงของสาระการเรียนรู้ต่างๆแบบมีเป้าหมายเดียวกัน           แบบที่ 2.  จำแนกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่                2.1 การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงแนวคิด ทักษะและความคิดรวบยอดของสาระการเรียนรู้สาระใดสาระหนึ่งนั่นเอง                  2.2 การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่นำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงกันเพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวข้อเรื่องเดียวกัน                แบบที่ 3.  จำแนกตามประเภทของการบูรณาการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่                  3.1 การบูรณาการแบบสหวิทยาการ เป็นลักษณะการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ การนำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงร้อยรัดให้เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวเรื่องเดียวกัน                 3.2 การบูรณาการแบบพหุวิทยาการ เป็นลักษณะการบูรณาการที่ผู้สอนนำเอาเรื่องหรือสาระการเรียนรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ไปสอดแทรกในสาระการเรียนรู้หรือวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบสอน             ทิศนา  แขมมณี และคณะ. (2548: 188-192) แบ่งประเภทการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็น 2 รูปแบบ คือ1.              การบูรณาการภายในวิชา (Interdisciplinary) หมายถึง การนำเนื้อหาสาระในวิชาเดียวกัน หรือกลุ่มประสบการณ์เดียวกันมาสัมพันธ์กันผู้สอนสามารถนำสาระทุกเรื่องมาสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวได้2.             การบูรณาการระหว่างวิชา (Interdisciplinary หรือ multidisciplinary) หมายถึง การนำเนื้อหาสาระของสองวิชา หรือหลายๆวิชามาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องเดียวกันภายใต้หัวข้อเรื่อง “theme” ที่เลือกในส่วนบูรณาการระหว่างวิชา สามารถจัดได้หลายลักษณะด้วยกัน และนำเสนอ 4 รูปแบบ ดังนี้                แบบสอดแทรก(Infusion) คือลักษณะการจัดการเรียนรู้จะสอดแทรกเนื้อหาหรือทักษะกระบวนการของกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระของตน โดยมีผู้สอน 1 คน            แบบคู่ขนาน(Parallel) คือลักษณะการจัดการเรียนรู้จะมีครู 2  คนขึ้นไป 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้ขึ้นไปวางแผนร่วมกันตามหัวเรื่อง/มโนทัศน์ (concept) /ปัญหา (problem) เดียวกันและเชื่อมโยงเนื้อหาสาระ กระบวนการและคุณธรรม แล้วต่างคนต่างสอนเนื้อหาตามกลุ่มสาระของตนเองโดยมีเป้าหมายร่วมกัน            แบบพหุวิทยาการ(Multidisciplinary) แบ่งเป็น ลักษณะดังนี้คือ                    - แบบสอนคนเดียว คือจะจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆกับหัวเรื่อง/มโนทัศน์/ปัญหาที่สอดคล้องกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมา                    - แบบแยกกันสอน คือการจัดการเรียนรู้จะคล้ายแบบคู่ขนานโดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆตามหัวเรื่อง/มโนทัศน์/ปัญหา แล้วต่างคนต่างสอนเนื้อหาตามกลุ่มสาระของตัวเองแต่มอบหมายให้ทำโครงงานเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆร่วมกันหรือบางเรื่องจัดสอนด้วยกัน                   - แบบสอนร่วมกันหรือแบบคณะ คือ การจัดการเรียนรู้จะร่วมกันวางแผน ปรึกษาหารือ กำหนดหัวเรื่องความคิดรวบยอดหรือปัญหาร่วมกันสร้างหน่วยเรียนรู้บูรณาการร่วมกันและสอนเป็นทีมหรือแยกกันสอนในบางเรื่อง        4.แบบข้ามวิชา (Transdisciplinary) คือลักษณะการจัดการเรียนรู้เป็นการบูรณาการที่สูงขึ้น สลัดความเป็น วิชาของแต่ละศาสตร์ออกไปเป็นการเรียนโดยมีเค้าโครงหรือโจทย์ประเด็นปัญหาที่วางไว้ผู้เรียนเรียนรู้หรือแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาโดยผ่ากิจกรรมและการศึกษาค้นคว้าที่หลากหลาย        กรมวิชาการ. (2549 : 3-4) ได้แบ่งประเภทการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการออกเป็น 2 แบบ คือ1.การบูรณาการภายในวิชา เป็นการเชื่อมโยงการสอนระหว่างเนื้อหาวิชาในกลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชาเดียวกันเข้าด้วยกัน              2.การบูรณาการระหว่างวิชา มี 4 รูปแบบ ดังนี้                      1.บูรณาการแบบสอดแทรก (Infusion Instruction) ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ต่างๆ กับหัวข้อเรื่องสอดคล้องกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมา เช่น เรื่อง น้ำ พืช ผู้สอนสามารถ เชื่อมโยงสาระ และกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่างๆ เช่น การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความจริงจากหัวข้อเรื่องที่กำหนด                        2.บูรณาการแบบคู่ขนาน (Parallel Instruction) มีผู้สอนตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยอาจยึดหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วบูรณาการเชื่อมโยงแบบคู่ขนาน เช่น ผู้สอนวิทยาศาสตร์ เรื่อง เงา ผู้สอนอาจสอนคณิตศาสตร์ เรื่องวัดระยะทางโดยการวัดเงา คิดคำนวณในเรื่องเงาในช่วงเวลาต่างๆ หรืออีกคนหนึ่งอาจให้ผู้เรียนรู้ศิลปะเรื่องเทคนิคการวาดรูปที่มีเงา                    3.บูรณาการแบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary Instruction) การบูรณาการ ในลักษณะนำเนื้อหาจากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงเพื่อจัดการเรียนรู้ ซึ่งโดยทั่วไปผู้สอนมักจัดการเรียนการสอน แยกตามรายวิชาหรือกลุ่มวิชา แต่ในบางเรื่องผู้สอนจัดการเรียนร่วมกันในเรื่องเดียวกัน เช่น วันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้สอนภาษาไทยจัดให้ผู้เรียนรู้ภาษาคำศัพท์ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนวิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผู้สอนสังคมให้ผู้เรียนค้นคว้าหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และครูผู้สอนสุขศึกษาอาจจัดให้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ
                         4.บูรณาการแบบโครงการa(Disciplinary Instruction) ผู้สอนสามารถ บูรณาการเป็นโครงการ โดยผู้เรียนและครูผู้สอนร่วมกันสร้างสรรค์โครงการขึ้น โดยใช้เวลาการเรียนต่อเนื่องกัน ได้หลายชั่วโมง ด้วยการนำเอาชั่วโมงของวิชาต่างๆที่ครูผู้สอนเคยแยกกัน มาร่วมเป็นเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกันในลักษณะของการสอนเป็นทีม (Team) เรียนเป็นทีม ในกรณีที่ต้องการเน้นทักษะเป็นพิเศษ ครูผู้สอนสามารถแยกกันสอนได้ เป็นฐาน ค่าย เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายดนตรี ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายศิลปะ เป็นต้น                                                            
          หลักการและทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง          ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม (Cognitive Theory)                สุรางค์ โค้วตระกูล. (2537 : 149 – 159) ได้กล่าวถึงนักจิตวิทยากลุ่ม เกสตัลท์ (Gestalt Psychologist : 1920-1930) ได้แก่ จอง พีอาเจต์ Jean Piaget) โจโรม เอสบรูเนอร์  (Jerome S. Bruner) และ เดวิด พี. อ๊อสชุเบล (David P. Ausuber) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าต้องเกิดจากตัวผู้เรียนเอง กล่าวคือ จะเน้นความสัมพันธ์ของส่วนย่อย โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของส่วนย่อยส่วนใดส่วนหนึ่งจะมีผลต่อส่วนรวม และจากการทำการวิจัยเกี่ยวกับการรับรู้ได้ข้อสรุปว่า การรับรู้ของคนส่วนมากจะเป็นอัตวิสัย (Subjective) ซึ่งเน้นความสำคัญของผู้เรียนว่าจะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำหรือเป็นผู้ที่ริเริ่มและกระตือรือร้น เรียนรู้ด้วยการหยั่งรู้(Insight) ซึ่งเป็นการอธิบายถึงกระบวนการรู้คิด (Cognitive Process)ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนรู้ ผู้เรียนได้มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าที่เป็นสิ่งแวดล้อมของปัญหาที่ตนกำลังเผชิญอยู่ นักจิตวิทยากลุ่มนี้จะเน้นการศึกษาเกี่ยวกับการรู้คิดและความสำคัญของผู้เรียน โดยถือว่าการเรียนรู้เป็นผลของการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม                พีอาเจต์ เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนรู้เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้กระทำที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าหรือสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดขึ้น (Active) ซึ่งสอดคล้องกับดุย (Dewey) ที่กล่าวว่า "Learning by Doing" ซึ่ง พีอาเจต์กล่าวว่า เมื่อเกิดการเรียนรู้ขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสติปัญญา (Cognitive Structure) ของผู้เรียน ซึ่งการนำทฤษฎีของพีอาเจต์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนจะเน้นหลักการต่างๆ ดังนี้                           1. กระบวนความคิดของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ ผู้เรียนแต่ละวัยจะมีลักษณะการคิดที่แตกต่างกัน ผู้สอนจะต้องมีความเข้าใจผู้เรียนแต่ละวัยว่ามีการรู้คิดอย่างไร             2. เน้นความสำคัญของผู้เรียน ผู้เรียนจะสามารถควบคุมกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self – Regulation) และเป็นผู้ที่จะริเริ่มลงมือกระทำ ผู้สอนมีหน้าที่อบรมและจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้โดยการค้นพบ ให้โอกาสผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม           3. ในการสอนควรเริ่มจากประสบการณ์ที่ผู้เรียนคุ้นเคยหรือเริ่มจากประสบการณ์ที่ใกล้ตัวไปหาประสบการณ์ที่ไกลตัว เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจ                   บรูเนอร์ เชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้ประมวลข้อมูลข่าวสารจากการที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การรับรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียนที่มีต่อสิ่งนั้นๆการเรียนรู้จะเกิดจากการค้นพบ เนื่องจากผู้เรียนมีความอยากรู้อยากเห็น บรูเนอร์ กล่าวไว้ว่า วิธีการที่ ผู้เรียนใช้เป็นเครื่องมือในการค้นพบความรู้มี 3 ขั้น คือ วิธีการที่ใช้รูปธรรม (Enactive Mode) วิธีการที่ใช้กึ่งสัญลักษณ์ (Iconic Mode) และวิธีการที่ใช้สัญลักษณ์ (Symbolic Mode) และเชื่อว่าถ้าผู้สอนเข้าใจพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของผู้เรียนและจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ตามขั้นพัฒนาการของตน
                    อ๊อสซุเบล เน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจและมีความหมาย การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รวมหรือเชื่อมโยง (Subsume) สิ่งที่เรียนรู้ใหม่ซึ่งอาจจะเป็นความคิดรวบยอดหรือความรู้ที่ได้รับใหม่ไว้ในโครงสร้างของสติปัญญาหรือความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียน ซึ่งอ๊อสซุเบล ได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ประเภท คือ การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย (Meaning Reception Learning) การเรียนรู้โดยการรับแบบท่องจำโดยไม่คิด (Rote Reception Learning) การเรียนรู้โดยการค้นพบอย่างมีความหมาย (Meaningful Discovery Learning) การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิด (Rote Discovery Learning)
                  ทฤษฏีพหุปัญญา (Multiple Intelligences Theory)
        Gardner. (อ้างถึงใน สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์, 2546 : 12) ได้เป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความสามารถทางสติปัญญาด้านต่างๆ เรียกว่า ทฤษฏีพหุปัญญา โดยสรุปไว้ว่า คนทุกคนมีความสามารถทางสติปัญญาหลายด้านและแตกต่างกันสามารถนำสติปัญญาไปใช้ในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหาต่างๆ สติปัญญาในแต่ละด้านเป็นอิสระซึ่งกันและกันและทุกคนสามารถพัฒนาสติปัญญาเหล่านี้ได้ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสติปัญญาที่หลากหลายเหล่านี้ด้วยการใช้วิธีสอนหลายวิธีและหลายรูปแบบให้นักเรียนปฏิบัติได้สอดคล้องกับความสามารถทางสติปัญญาด้านต่างๆของตน       ความสามารถทางสติปัญญา 8 ด้าน ได้แก่                1.สติปัญญาด้านภาษา เป็นความสามารถในการใช้ทักษะทางภาษา การแสดงออก การเข้าใจถ้อยคำ และศิลปะในการสื่อสารกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาด้านนี้ ได้แก่ การเล่าเรื่อง การพูดในโอกาสต่าง การฟัง เขียนบทความ หรือนิทาน การเขียนเชิงสร้างสรรค์               2.สติปัญญาด้านการใช้เหตุผลและคณิตศาสตร์ เป็นความสามารถในการคิดหาเหตุผล มีความเข้าใจในความสัมพันธ์ของการกระทำ วัตถุ และความคิดมีความสามารถในการคำนวณ การพิจารณาปัญหาและแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ได้แก่ การฝึกแก้ปัญหา การใช้เหตุผล เล่นเกมฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์                 3.สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ เป็นความสามารถด้านการมองเห็นสิ่งต่างๆ สร้างสิ่งที่สร้างสรรค์หรือจินตนาการภายในใจ เข้าใจภาพหลายมิติ การออกแบบ การเดินเรือและสถาปัตยกรรม กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาด้านนี้ได้แก่ การสร้างสรรค์ภาพ การสร้างรูปแบบ การใช้สัญลักษณ์ กราฟฟิค การใช้แผนภูมิ การทำแผนผังความคิด แผนที่การสร้างรูปบ็ลอค                 4.สติปัญญาด้านการเคลื่อนไหวด้านร่างกายและกล้ามเนื้อ เป็นความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย การแสดงออกทางอารมณ์ ภาษาท่าทางและการออกกำลังกาย กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ คือการใช้ร่างกายเป็นสื่อในการเรียนการสอน แสดงท่าทาง แสดงละคร แสดงบทบาทสมมุติ เล่นเกม การศึกษานอกสถานที่ และการรำหรือทำท่าทางประกอบเพลงหรือเสียงดนตรี           5.สติปัญญาด้านดนตรี เป็นความสามารถเกี่ยวกับท่วงทำนอง จังหวะ ระดับเสียงสูงต่ำ สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ ร้องเพลงร่วมกับผู้อื่นได้ กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาด้านนี้ คือใช้เพลงหรือดนตรีประกอบในการปฏิบัติ กิจกรรม ให้ดนตรีช่วยสร้างภาพในสมอง การแต่งเพลง ใช้เครื่องเคาะจังหวะดนตรี            6.สติปัญญาด้านการเข้าใจผู้อื่น เป็นความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เข้าใจในอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดและพฤติกรรมผู้อื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เป็นผู้นำ ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ได้แก่ การทำกิจกรรมในรูปแบบการร่วมมือ การทำงานกลุ่ม การอยู่ค่ายพักแรม             7. สติปัญญาด้านการเข้าใจตัวเอง เป็นความสามารถในการรู้จักและเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น ความรู้สึก ค่านิยม ความเชื่อ การรับรู้ การคิด กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ คือการสร้างแรงจูงใจจากภายใน การศึกษาอิสระ การพูดหรือเขียนบทความเกี่ยวกับประสบการณ์ของตน การฝึกประเมินตนเอง              8. สติปัญญาด้านการเข้าใจธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัวศึกษาธรรมชาติอย่างมีระบบ   การออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ   
ขั้นตอนและวิธีการ                   การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  ทั้งการบูรณาการภายในวิชาและบูรณาการระหว่างวิชา  มีหลักการเช่นเดียวกัน โดยมีขั้นตอนและวิธีการดังต่อไปนี้สำลี  รักสุทธิ และคณะ (2544:57)   กล่าวถึงขั้นตอนการจัดทำการบูรณาการเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอนว่า ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ                 ขั้นตอนที่ 1    ศึกษาหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตร เป็นการหาความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อนำมากำหนดเป็นปัญหาหรือหัวเรื่องในการเรียนการสอน                 ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์หลักสูตร เป็นการศึกษาจุดประสงค์ของวิชาหลักและวิชารองที่จะนำมาบูรณาการ จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนในการดำเนินการเรียนการสอน รวมทั้งการวัดและประเมินผล                 ขั้นตอนที่ 3 จัดทำกำหนดการสอน เป็นการวางแผนการสอนแบบกว้างๆ โดยนำรายละเอียดที่ได้จากการวิเคราะห์คำอธิบายในหลักสูตรมาแยกย่อยเนื้อหา จุดประสงค์ กิจกรรม รวมทั้งกำหนดคาบในการสอน ซึ่งกำหนดการสอนแบบบูรณาการจะเพิ่มช่องบูรณาการและมีเนื้อหาบูรณาการแบบภายในวิชาหรือเนื้อหาบูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ เข้าไปด้วย                 ขั้นตอนที่ 4 เขียนแผนการสอน เป็นการกำหนดรายละเอียดของการสอนตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล โดยยึดหลักความสอดคล้องของแต่ละวิชาในการเรียนการสอนในช่วงเวลาเดียวกัน                 ขั้นตอนที่ 5 ปฏิบัติการสอน เป็นการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในแผนการสอน โดยมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งผลสำเร็จของการสอนตามจุดประสงค์ เป็นต้น โดยมีการบันทึกจุดเด่นและข้อปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป                 ขั้นตอนที่ 6 ประเมิน ปรับปรุง และพัฒนาการสอน เป็นการนำผลที่ได้จากการบันทึกรวบรวมไว้ในขณะปฏิบัติการสอนมาวิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาแผนการสอนแบบบูรณาการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น        
               ชาตรี เกิดธรรม (2545:39-40) กล่าวไว้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมีขั้นตอนดังนี้                1. กำหนดหัวข้อสาระการเรียนรู้ โดยเริ่มจากโครงสร้างของหลักสูตรในระดับท้องถิ่น หรือที่ใช้อยู่ด้วยการระดมสมองจากผู้เรียนและครูเป็นการดึงให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น หัวข้อที่จะนำมาสอนแบบบูรณาการได้ดีควรเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันมากที่สุด               2. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ครูต้องกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ชัดเจน ว่าเมื่อเรียนรู้เรื่องนี้จบแล้วผู้เรียนควรจะได้อะไรบ้าง ซึ่งควรจะสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ตามช่วงชั้นด้วย ถ้าจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ                3.  กำหนดเนื้อเรื่อง โดยขยายเนื้อหาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น แต่ละวิชา                4. กำหนดขอบเขตการเรียนรู้ กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน และจัดคาบเวลาให้เหมาะสมกับเนื้อหา กิจกรรม และต้องมีความยืดหยุ่นตามกิจกรรมการเรียนรู้และเนื้อหาโดยเฉพาะถ้าเป็นการบูรณาการระหว่างวิชา การจัดเวลาให้เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก               5. ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ด้วยวิธีการที่หลากหลายและให้มีการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในท้องถิ่นและชุมชนและจากแหล่งข้อมูลภายนอก               6.  ประเมินผล   โดยเน้นการประเมินผลตามสภาพจริงและประเมินด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาจจะประเมินในลักษณะของการใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน การสังเกตกิจกรรมการปฏิบัติจริง การสนองตอบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนและการพัฒนาความรู้ของผู้เรียนได้                 ทิศนา แขมมณี และคณะ (2548: 192-194)ได้กล่าวถึงแนวทางนำเสนอขั้นตอนวิธีการการสอนแบบบูรณาการไว้ดังนี้              ขั้นที่ 1 เลือกเรื่องที่จะสอนแบบบูรณาการ โดยพิจารณาความเหมาะสมกับท้องถิ่นและความเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน               ขั้นที่ 2 กำหนดจุดประสงค์การสอน เนื้อหาสาระและความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นตามความคิดเห็นของผู้สอน โดยพิจารณาถึงความเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนของตน และปัญหาความต้องการของท้องถิ่น             ขั้นที่ 3 ตรวจสอบจุดประสงค์ เนื้อหาสาระ และความคิดรวบยอดที่ผู้สอนกำหนดกับจุดประสงค์และกรอบเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้ในหลักสูตร หากที่กำหนดไว้มีไม่ครบตามที่หลักสูตรกำหนดให้เพิ่มให้ครบ             ขั้นที่ 4 สำรวจพื้นฐานเดิมของผู้เรียน เพื่อจะได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ให้เชื่อมโยงกับความรู้เดิม และไม่สอนซ้ำในสิ่งที่ผู้เรียนรู้แล้ว            ขั้นที่ 5 กำหนดแนวการสอนหรือวางยุทธศาสตร์ในการสอนที่จะทำให้การสอนไม่หลงทาง และบรรลุตามจุดประสงค์ครบถ้วน           ขั้นที่ 6 กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายละเอียดโดยอาศัยหลักการเรียนรู้วิธีสอน และเทคนิคการสอนต่างๆ           ขั้นที่ 7 บูรณาการความรู้/สาระ ทักษะ เจตคติ และอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆที่มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับสาระและกิจกรรมที่กำหนดไว้      ขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการบูรณาการ Lardizabal and others (1970: 142) ได้นำเสนอขั้นตอนในการสอนบูรณาการ ไว้ดังนี้                  1. ขั้นนำ (Initiating the unit) เป็นขั้นที่ครูเร้าความสนใจหรือนำทางให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้เรียนประสบอยู่ ครูอาจมีวิธีเริ่มหน่วยได้หลายวิธี เช่นการจัดสภาพห้องเรียนให้เร้าความสนใจใคร่รู้ ใช้โอกาสพิเศษและเหตุการณ์สำคัญ เป็นการเริ่มหน่วยการศึกษานอกสถานที่ปัญหาต่างๆในครอบครัวหรือโรงเรียน อาจนำการเริ่มต้นหน่วย การใช้สื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ สไลด์ เทปบันทึกเสียง เทปโทรทัศน์ การเล่าเรื่องบทความหรือบทประพันธ์นำมาใช้เริ่มต้นหน่วยได้ หน่วยการเรียนอาจเริ่มต้นจากข้อเสนอแนะบางด้านของโรงเรียนท้องถิ่น ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การกระทำ ครูอาจตั้งคำถามว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เราจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และอะไรเป็นปัญหาย่อยที่เราต้องแก้ไขก่อนปัญหาใหญ่                  2. ขั้นปฏิบัติ (Point of experience) เป็นขั้นที่ครูเสนอแนะกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้วางแผนตั้งจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาตามกิจกรรมต่างๆที่ครูเสนอแนะ การทำกิจกรรมอยู่ภายใต้การให้คำแนะนำจากครูมีการแบ่งกลุ่มและหน้าที่กัน ในขั้นนี้ การแนะนำของครูเป็นสิ่งจำเป็น ครูจะต้องมีทักษะและความสามารถในการแนะนำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การค้นคว้า การเก็บรวบรวมข้อมูล การรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ การอ่าน การทัศนศึกษา การเขียนและการแปลความจากภาพสถิติ การสัมภาษณ์ เป็นต้น                  3. ขั้นสรุปกิจกรรม (Culminating Activities) ขั้นนี้ครูเน้นที่บูรณาการ (Integration) หน่วย ผู้เรียนสรุปกิจกรรม โดยครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในการทำกิจกรรมแบบหน่วย ผู้เรียนต่างแบ่งงานกันทำดังนั้นการผสมผสานทุกด้านเข้าด้วยกันเป็น สิ่งสำคัญยิ่ง ผู้เรียนควรได้รับคำแนะนำให้สังเกตค้นคว้าหาว่ากิจกรรมของตนเอง สามารถตอบคำถามของกลุ่มใหญ่ได้อย่างไร และการเสนอผลงานของตนเองให้ เพื่อนๆที่ไม่ได้ทำกิจกรรมตรง ส่วนนั้นได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง การใช้การสื่อความหมายอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ วิธีการกลุ่มแลกเปลี่ยนหรือการรายงานการค้นคว้าของตนเป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่มีคุณค่า ฝึกการแสดงออกในทางสร้างสรรค์(Creative Expression) การที่ผู้เรียนโยงความสัมพันธ์ของกิจกรรมหน่วยย่อยเข้ากันเป็นงานของกลุ่มใหญ่ ทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ด้านเนื้อหา ฝึกทักษะความสามารถในการพัฒนาเจตคติ ในการเสนอผลงานของผู้เรียนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น จัดแสดงนิทรรศการ การสาธิต การทดลอง การแสดงละคร การรายงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลงานเหล่านี้ จะต้องมีการอภิปรายกลุ่มตามมา                    4. ขั้นประเมินผล (Evaluation) การประเมินผลถือเป็นกระบวนการต่อเนื่องในทุกระยะของการเรียน การสอนไม่ได้หมายถึงการวัดผลขั้นสุดท้ายเท่านั้น การประเมินผลอาจแบ่งออกเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจด้านวิชาการ ประเมินความสามารถในการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม และความสามารถระหว่างกลุ่ม ผู้เรียนจะต้องได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักว่าการประเมินผลของกลุ่ม เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง กว่าสิ่งที่ครูประเมินเพราะในขณะที่ผู้เรียนต้องประเมินผลการทำงานของตน จะช่วยให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึง จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบ และเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานของตนและกลุ่มได้             จากขั้นตอน และวิธีการในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการบูรณาการทั้งหมดที่กล่าวมาพอสรุปเป็นขั้นตอนได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้         1. ขั้นนำ ครูเป็นผู้สร้างประเด็นหรือนำนักเรียนเข้าสู่ปัญหา โดยนำนักเรียนเข้าสู่สถานการณ์จริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตัวนักเรียนเอง        2. ขั้นปฏิบัติ นักเรียนนำผลจากการได้รับ ประสบการณ์จริง ที่ได้จากขั้นนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา หรือพัฒนางานโดยกระบวนการกลุ่ม แล้วบูรณาการเนื้อหาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันไว้ด้วยกัน          3. ขั้นสรุป นักเรียนแต่ละกลุ่มนำผลการวิเคราะห์ มาแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนานั้นไปสู่การปฏิบัติจริงตามขั้นตอนการแก้ไข หรือพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม โดยมีผู้สอนเป็นผู้แนะแนวทาง                4.ขั้นประเมินผล ทุกกลุ่มนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชิ้นงานที่ได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุงแล้วต่อทุกกลุ่มร่วมกัน ผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง ที่ถูกต้อง และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานแต่ละกลุ่มให้เกิดการบูรณาการระหว่างกัน  หลักการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ                  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยการบูรณาการ เป็นส่วนที่สำคัญของหลักสูตรแบบบูรณาการ การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องคำนึงถึงหลักของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่งมีผู้เสนอแนวคิดไว้ ดังต่อไปนี้               อรทัย มูลคำ และคณะ (2542:13)ได้เสนอ หลักในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบูรณาการ ได้แก่                 1. จัดการเรียนการสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนอย่างกระตือรือร้น                 2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ร่วมกันทำงานกลุ่มด้วยตนเอง โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมกลุ่ม ลักษณะต่างๆ หลากหลายในการเรียนการสอน และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ลงมือทำ                 3. จัดประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายตรง กับความจริง สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีเหตุผล              4. จัดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกกล้าคิดกล้าทำ ส่งเสริมให้ ผู้เรียนได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดของตนเองต่อสาธารณะชนหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน             5. เน้นการปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยม และจริยธรรมที่ถูกต้องดีงาม ให้ผู้เรียนสามารถ วางแผนแยกแยะความถูกต้องดีงามและความเหมาะสมได้ สามารถขจัดความขัดแย้งได้ด้วยเหตุผล มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาและสามัคคี                   สำลี รักสุทธิ และคณะ (2544 : 27-18) ได้เสนอ หลักการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตรแบบบูรณาการ ดังนี้                    1. จัดกิจกรรมที่ใช้ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทุกด้าน ได้แก่ ร่างกาย สติปัญญา สังคม และ อารมณ์                   2. ยึดการบูรณาการวิชาเป็นสำคัญ โดยการบูรณาการทั้งภายในวิชาเดียวกันหรือระหว่าง วิชาเชื่อมโยงหรือบูรณาการเข้าด้วยกันให้เป็นความรู้แบบองค์รวม                  3. ยึดกลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่ม ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน                 4. ยึดการค้นพบด้วยตนเองเป็นสำคัญ                 5. เน้นกระบวนการควบคู่ไปกับผลงานโดยการส่งเสริมให้ผู้เรียนวิเคราะห์ถึง กระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลงาน โดยคำนึงถึงประสิทธิผลของงานด้วย                 6. เน้นการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติจริงและ การติดตามผลการปฏิบัติของผู้เรียน                 7. เน้นการเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีความหมาย                 8. เน้นการเป็นคนดีและมีคุณค่า ต่อสังคม ประเทศชาติ เห็นคุณค่าของสรรพสิ่งหรือ ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน                     วลัย พาณิช ( 2544 : 167-169) ได้เสนอแนวทางการออกแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการออกเป็น 2 ลักษณะ                  1. ลักษณะที่เป็นหัวเรื่อง (Theme) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ                           1.1 การจัดการเรียนการสอนแบบจัดหน่วยบูรณาการ (Integrated Unit)ซึ่งจะต้องมี เนื้อหาและกระบวนการ วิธีการ และเนื้อหาวิชาที่จะบูรณาการตั้งแต่ 2 วิชาขึ้นไป                          1.2 การจัดการเรียนการสอนแบบมีหัวเรื่อง (Theme) จะไม่มีการบูรณาการเชิง เนื้อหาวิชา เรียกว่า เป็นการบูรณาการแบบหน่วยการเรียนหรือหน่วยรายวิชา                  2. ลักษณะที่เป็นโครงการ เป็นการสอนตั้งแต่ 2 วิชาขึ้นไป ให้ผู้เรียนสามารถจัดในรูป ของโครงการที่บูรณาการเชื่อมโยงเนื้อหา ความรู้จากหลายหลากวิชาในเรื่องเดียวกัน มอบหมายให้ผู้เรียนทำโครงการร่วมกัน ครูวางแผนการสอนร่วมกัน และกำหนดงานหรือโครงการร่วมกัน                 กระบวนการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบูรณาการนั้น จะต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการสอนที่เป็นบูรณาการ (Integrative Teaching Styles) ซึ่งต้องมีวิธีการที่หลากหลายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ใช้เทคนิคการเรียนการสอนที่ผสมผสานกัน ฝึกให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบด้วยวิธีสืบสอบ (Inquiry) หรือใช้วิธีการแก้ปัญหา (Problem Solving) เน้นการทำงานร่วมกัน มีงานกลุ่มหรืองานเดี่ยวผสมผสานกันไป เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในประสบการณ์จริง ประสบการณ์การเรียนรู้ควรอยู่ในขอบเขตสมรรถภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน จึงต้องพิจารณาขอบเขตการเรียงลำดับของเนื้อหาของลักษณะวิชารวมทั้งลักษณะของผู้เรียนด้วย และให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง